ข่าวสารและกิจกรรม



'ไทยเทรคกิ้ง ซิสเต็มส์' ซอฟต์แวร์ GPS สัญชาติไทย [2005-06-29 09:42:00]

เอกรัตน์ สาธุธรรม
ไม่บ่อยนักที่จะเห็นบริษัทไอทีคนไทย คิด เขียน และพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีการใช้งานวงกว้างระดับโลกอย่างซอฟต์แวร์ 'จีพีเอส' ระบบดาวเทียม ติดตาม และแจ้งพิกัดยานพาหนะ บริษัทเดอะ ไวร์เลส อินโนเวชั่น บริษัทคนไทย 100% เน้นการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะผลงานชิ้นโบแดงอย่างระบบ 'จีพีเอส' ที่ทีมงานกล้ารับประกันว่า เป็นซอฟต์แวร์จีพีเอสตัวแรกของคนไทยที่คิดเอง ทำเอง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

'บริษัทเดอะ ไวร์เลส อินโนเวชั่น (The Wireless Innovation Co., Ltd) จัดตั้งขึ้นจากกลุ่มวิศวกรคนไทยที่มีประสบการณ์ และชอบในเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะจาวา แอพพลิเคชั่น พวกเราเห็นถึงความสามารถในการนำจุดเด่นของจาวาเข้ามาประยุกต์ พัฒนาให้ซอฟต์แวร์มีความสามารถระดับสูงในด้านต่างๆ ปัจจุบันเราพัฒนาระบบควบคุม และติดตามตรวจสอบยานพาหนะ ภายใต้ชื่อ 'ไทยเทรคกิ้ง ซิสเต็มส์ (Thai Tracking Technology) เป็นซอฟต์แวร์ระบบดาวเทียม ติดตาม และแจ้งพิกัดยานพาหนะ ที่ผม และทีมงานเชื่อว่าจะได้รับความนิยมในเมืองไทยด้วยระยะเวลาไม่นาน'

นี่เป็นประโยคสนทนาแรกของ 'ชัยวัฒน์ สุทธิ' กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะไวร์เลส อิโนเวชั่น จำกัด ที่ดูมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า 'ซอฟต์แวร์จีพีเอส' ที่คนไทยคุ้นหูมานาน จะไม่ได้เป็นแค่เพียงคำคุ้นหูเท่านั้น แต่จะกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ปั๊มตรา Made in Thailand และได้รับความนิยมไม่แพ้ซอฟต์แวร์ระดับโลกประเภทอื่น

ชัยวัฒน์ เล่าว่า เขา และทีมงานในบริษัทได้ใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี ในการวิจัย และพัฒนาซอฟต์แวร์ติดตาม และแจ้งพิกัดยานพาหนะ หรือ Global positioning system (GPS) ซึ่งเป็นการพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงขั้นตอนของการเปิดตัวเชิงพาณิชย์

'จริงๆ แล้ว จุดเริ่มจริงๆ คือ เมื่อครั้งที่ ไมเคิล อีพอตเตอร์เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ในเมืองไทย และบอกไว้ว่าประเทศไทยมีขีดการแข่งขันที่ต่ำ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน สาเหตุหนึ่งเพราะต้นทุนการขนส่งในประเทศที่สูงมาก นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้รัฐบาลไทยหันมาใส่ใจเรื่องของโลจิสติกส์มากขึ้น และเราเองก็เห็นถึงเทคโนโลยีที่น่าจะเข้ามาช่วยทำให้โลจิสติกส์ของเมืองไทยมีประสิทธิภาพได้'

ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่าง รถสิบล้อขนส่งที่ปกติก็กินน้ำมันอยู่แล้ว แต่ทีนี้เจ้าของบริษัทรถเหล่านี้จะไม่เคยรู้เลยว่า คนขับขับไปตามเส้นทางจริงๆ หรือไม่ เพราะจะมีปัญหาเรื่องคนขับรถมักออกนอกเส้นทาง และนั่นเป็นตัวการที่ทำให้สิ้นเปลืองค่าน้ำมันโดยใช่เหตุ

เขาว่า ซอฟต์แวร์นี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้รถ การบริหารเวลาการใช้รถ การลดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบำรุง และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจากการใช้รถที่ไม่เหมาะสม เช่น รถออกนอกเส้นทาง จอดรถติดเครื่องเป็นเวลานาน ขับรถด้วยความเร็วเกินจากที่กำหนด และด้านความปลอดภัย โดยการจำกัดความเร็วเพื่อลดอุบัติเหตุจากการขนส่ง

'ซอฟต์แวร์จีพีเอสของเรา สามารถติดตามยานพาหนะได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่ารถจะจอดอยู่จุดไหน สามารถติดตามผลได้ตลอดแบบเรียลไทม์ โดยสามารถดูได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต พีดีเอ'

ลักษณะของซอฟต์แวร์ จะถูกติดตั้งไปกับรถขนส่ง หรือรถสาธารณะต่างๆ เช่น รถสิบล้อ รถแท็กซี่ ซึ่งข้อมูลการเดินทางทั้งหมดของรถจะถูกส่งกลับมาโดยอัตโนมัติที่เครื่องแม่ข่ายกลางสำหรับเก็บข้อมูล เมื่อเกิดเหตุผิดปกติกับตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือรถหยุดกะทันหัน ระบบซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งภายในรถจะส่งสัญญาณเตือนมาที่อุปกรณ์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ และพีดีเอของเจ้าของรถในทันที

ขณะเดียวกัน หากเจ้าของรถต้องการตรวจสอบข้อมูลของรถคันนั้นๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งว่าไปถึงที่หมายหรือยัง ก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันทีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต พีซี โน้ตบุ๊ค ถ้าหากจะดูข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ก็เพียงใช้โทรศัพท์ในระบบจีพีอาร์เอส จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็ว 171.2 กิโลบิต เช่นเดียวกับพีดีเอ ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างละเอียด

'สำหรับค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ชุดซอฟต์แวร์ที่รีวมถึงฮาร์ดแวร์ที่ติดตั้งในรถนั้นราคาประมาณ 20,000 ต้นๆ คุณก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันทีอย่างเรียลไทม์ จะอยู่ต่างประเทศก็สามารถตรวจสอบได้'

ชัยวัฒน์ อธิบายว่า เป็นการนำเทคโนโลยีจีพีเอสมาเชื่อมโยงให้บริการกับรถประเภทต่าง เช่น รถขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ และอื่นๆ เพื่อสามารถติดตาม และแจ้งพิกัดยานพาหนะ (Automatic Vehicle Locating and Fleet Management System) หรือ AVLS ในแบบออนไลน์ ซึ่งมีใช้งานอย่างกว้างขวางในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

'เมื่อก่อนถ้าพูดถึงซอฟต์แวร์จีพีเอส ส่วนใหญ่เราต้องซื้อจากต่างประเทศ ราคาก็หลายสิบล้าน รวมฮาร์ดแวร์ด้วย แต่บริษัทเดอะ ไวร์เลสเขียนซอฟต์แวร์จีพีเอสขึ้นเอง เราเริ่มมาจากศูนย์ จนเสร็จสมบูรณ์ พร้อมทำตลาด โดยขณะนี้กลุ่มลูกค้าหลักๆ ของเรา คือ ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ สหกรณ์แท็กซี่ ที่เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อชุดซอฟต์แวร์ตัวนี้ของเราไปกว่า 500 ชุด ผมกำลังมองไปถึงกลุ่มลูกค้าที่กำลังจะเข้ามาใช้ซอฟต์แวร์ของเราอีก นั่นคือ กลุ่มรถทัวร์'

ชัยวัฒน์ ยังเล่าถึง จำนวนรถขนส่งที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันว่ามีกว่า 700,000 คัน และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 900,000 คัน ซึ่งในจำนวนนี้ เขาบอกว่า หากกลายมาเป็นลูกค้าที่ติดตั้งระบบซอฟต์แวร์จีพีเอสของเขาทั้งหมด นั่นหมายถึงตัวเลขรายได้ที่จะพุ่งถึงระดับหมื่นล้านบาท

'ตัวเลขนี้ เป็นการมองในแง่ที่เทคโนโลยีของบริษัทเราเกิดพีคสุดๆ นะครับ ผมเชื่อว่าดีมานด์มันยังมีอีกเยอะ เพียงแต่ยังไม่มีรายไหนที่ตอบโจทย์ระบบการติดตามยานพาหนะได้ครบทุกข้อ แม้แต่บริษัทเดอะไวร์เลสฯ เองก็ต้องมีการพัฒนาต่อยอด อัพเกรดไปเรื่อยๆ '

ชัยวัฒน์ เล่าถึงแนวโน้มของธุรกิจโลจิสติกส์ที่เขานำมาเชื่อมโยงกับระบบซอฟต์แวร์จีพีเอสว่า อีกไม่นานซอฟต์แวร์นี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในธุรกิจโลจิสติกส์ ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เป็นที่รับรู้แล้วสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้ และเกี่ยวข้อง แต่ที่ยังไม่สนิทแนบแน่น เพราะส่วนใหญ่ซอฟต์แวร์จีพีเอสที่ใช้ เป็นของต่างประเทศ และมีการนำมาดัดแปลง ประยุกต์ให้ใช้งานได้ในประเทศไทย ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะจะเกิดปัญหามากเมื่อเวลาที่ต้องแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของซอฟต์แวร์

โดยจะต้องติดต่อไปยังต่างประเทศ เพื่อให้เขาแก้ไขให้ ความคล่องตัวจึงไม่มี ความล่าช้าก็เกิดขึ้น ทำให้เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายหากจะต้องใช้งานซอฟต์แวร์จีพีเอส

สำหรับการทำตลาดซอฟต์แวร์ตัวนี้ ชัยวัฒน์ เล่าว่า บริษัทเน้นทำตลาดโดยตรง แต่จะเน้นแค่บางโปรเจคใหญ่ๆ ที่จะดูแลเอง ขณะเดียวกันก็จะทำตลาดผ่านพาร์ทเนอร์ที่อยู่ในแต่ละโซนตามภาคต่างๆ

'เรามีพาร์ทเนอร์ที่เป็นตัวแทนดูแลในแต่ละจังหวัด เป็นโซนๆ ไป โซนละกี่จังหวัดก็ว่ากันไป อย่างตอนนี้มีประมาณ 10 รายทั่วประเทศ ซึ่งอนาคตจะต้องเพิ่มตัวแทนอีกแน่นอน'

ชัยวัฒน์ บอกว่า ขณะนี้ บริษัทได้โปรเจคใหญ่สำหรับการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์จีพีเอสให้กับโครงการสหกรณ์แท็กซี่ ที่มีแผนติดตั้งระบบจีพีเอสในรถแท็กซี่ที่อยู่ในสหกรณ์ทั้งหมด กลายเป็นแท็กซี่อัตโนมัติ ซึ่งบริษัทจะสามารถทำรายได้จากโครงการนี้ ในช่วงแรกกว่า 10 ล้านบาท

'รายได้เราจริงๆ ผมตั้งเป้าที่จะติดตั้งซอฟต์แวร์ในรถต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 คัน ทั้งกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถทัวร์ รถขนส่ง รวมถึงรถสาธารณะอื่นๆ'

เขาบอกด้วยว่า ซอฟต์แวร์จีพีเอสของบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานของซอฟต์แวร์ปาร์ค เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นเครื่องการันตีถึงความมีประสิทธิภาพได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญอีกไม่นานซอฟต์แวร์ตัวนี้กำลังจะบินไปสร้างฐานตลาดในต่างประเทศด้วย

ชัยวัฒน์ ยังเล่าถึง บริษัทเดอะไวร์เลส อินโนเวชั่น ว่า เป็นบริษัทไม่ใหญ่ ทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท แต่มีการทำวิจัย และพัฒนาเป็นของตัวเอง เพราะเชื่อว่า การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ บริษัทต้องครอบคลุมการบริหารจัดการได้แบบครบถ้วน เริ่มตั้งแต่การวิจัย และพัฒนา สินค้า และวางแผนการตลาดเพื่อนำสินค้านั้นออกสู่เชิงพาณิชย์

'ไม่อย่างนั้น ก็จะเป็นบริษัทในรูปแบบ ซื้อมา ขายไป ซึ่งผมว่า มันหมดยุคไปแล้ว'


คลิ้กเลยค่ะ




  TTT Brochure
 
  LogMeIn
 
  Teamviewer
 

Counter Stats
superannuation funds
superannuation funds Counter