ข้อมูลจาก
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ผลงานจากมันสมองของนักพัฒนาซอฟต์ แวร์รับจ้างสู่การเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ นายชัยวัฒน์ สุทธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะไวรเล็ซ อิโนเวชั่น จำกัด นักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพผู้พลิกผันมาสู่การเป็นเจ้าของระบบควบคุมและติดตามยานพาหนะ
นายชัยวัฒน์ เล่าว่า Thai Tracking Tech nology (ไทย ทริคกิ้งเทคโนโลยี) เป็นซอฟต์แวร์ติดตามยานพาหนะที่สามารถตรวจสอบตำแหน่งที่อยู่ของรถด้วยการแสดงผลผ่านเครือข่ายไร้สายได้เกือบทุกประเภท เช่น โทรศัพท์มือถือ พีดีเอ โน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ด้วยระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลกโดยการอ้างอิงจากระบบดาวเทียม หรือ GPS (Global Position System)
การทำงานของระบบ
ไทย ทริคกิ้ง เทคโน โลยี จะติดตั้งฮาร์ดดิสก์ หรืออุปกรณ์ส่งข้อมูล ไว้ที่ยานพาหนะโดยใช้สายไฟเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่เพื่อส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์กลาง เช่น ข้อมูลการรายงานพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับ ความเร็วในการขับขี่ ช่วงเวลา เส้นทางการเดินรถ และตำแหน่งที่รถอยู่ ซึ่งเจ้าของยานพาหนะสามารถเปิดดูข้อมูลทางเว็บไซต์และเว็บ Thaitracking.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อุปกรณ์ในฮาร์ดดิสก์ทุกชิ้นผลิตขึ้นที่เมืองไทย ส่วนซอฟต์แวร์ได้พัฒนาขึ้นบนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ ทำให้มีความยืดหยุ่นมาก ส่งผลให้ การเพิ่ม ลด และปรับเปลี่ยนแอพพลิเคชั่นให้ตรงกับความต้องการจึงเป็นเรื่องง่ายใช้เวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น
หากติดตั้งไว้ที่รถขนเงิน ฮาร์ดดิสก์จะถูกตั้งให้ส่งข้อมูลกลับมายังเซิร์ฟเวอร์ทุก 15 วินาที แต่ถ้าเป็นรถบรรทุกสินค้าทั่วไป รถทัวร์ หรือ รถเช่า ก็สามารถปรับตั้งเวลาให้ส่งข้อมูลเข้าเซิร์ฟเวอร์ทุก 2-3 นาที ซึ่งต้นทุนที่ใช้ติดตั้งรวมอุปกรณ์จะอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต้น ๆ และค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเข้าดูข้อมูลโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งอีกเดือนละ 500 บาท
สำหรับแผนที่ประเทศไทยความละเอียดสูงที่นำมาใช้ เป็นแผนที่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถรายงานพิกัดตำแหน่งองศาที่อยู่ของรถ ระดับละติจูด ลองจิจูด ถนนหนทาง ตำบล และอำเภอได้อย่างละเอียด ซึ่งจะมีการอัพเดทแผนที่ทุก 3-6 เดือน
นายชัยวัฒน์ บอกว่า หากมีการถอดฮาร์ดดิสก์ออกจากตัวรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางบริษัทได้สร้างระบบสำรองความปลอดภัยไว้อีกชั้นหนึ่งที่จะทำให้หัวขโมยไม่สามารถขับรถหายเข้ากลีบเมฆไปได้อย่างแน่นอน
อนาคตซอฟต์แวร์นี้จะถูกต่อยอดไปสู่การสร้าง ระบบความปลอดภัยภายในบ้าน หรือ โฮม-ซีเคียวริตี้ โดยใช้หลักการเช่นเดียวกับระบบควบคุมและติดตามยานพาหนะ รวมทั้งการทำ อาร์เอฟไอดี หรือป้ายระบบความถี่วิทยุ (radio frequency identification-RFID) เป็นการ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ บนพื้นฐานของเทคโน โลยีที่มีอยู่
นายชัยวัฒน์ บอกว่า ซอฟต์แวร์ดังกล่าวสามารถเขียนแอพพลิเคชั่นใช้กับรถร่วมบริการ ขสมก. ไม่สามารถกด ปุ่มเปิดประตูได้หากรถจอดไม่สนิท ที่สำคัญสามารถตรวจสอบพฤติกรรมคนขับได้ทุกนาที และถือเป็นทาง ออกที่ดีที่จะใช้แก้ปัญหาคนตกรถเมล์ เพราะการที่จะเข้าไปแก้นิสัยของคนขับทำได้ยาก จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ติดปัญหา เรื่องต้นทุนที่ทางรถร่วม ขสมก. ต้องแบกรับ จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำระบบดังกล่าวเข้าไปใช้
หนึ่งนวัตกรรมทางความคิดที่ผ่านการบ่มเพาะจากซอฟต์แวร์ ปาร์ค ยาวนานถึง 1 ปี จนเกิดเป็นเทคโนโลยีฝีมือคนไทยที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต.